พื้นฐานการเงินที่ทุกคนต้องรู้

การเงินส่วนบุคคลเป็นหัวข้อที่สำคัญสำหรับทุกคน ไม่ว่าคุณจะเป็นนักศึกษา, พนักงานออฟฟิศ, หรือผู้ประกอบการ การเข้าใจพื้นฐานของการเงินส่วนบุคคลจะช่วยให้คุณสามารถจัดการกับเงินของคุณได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนำไปสู่ความมั่นคงทางการเงินในอนาคต บทความนี้จะอธิบายพื้นฐานของการเงินส่วนบุคคลที่ประกอบด้วยสามส่วนหลัก: การหารายได้, การใช้จ่าย, และการลงทุน

การหารายได้

การหารายได้เป็นขั้นตอนแรกและสำคัญที่สุดในการเงินส่วนบุคคล ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือนจากการทำงาน หรือ รายได้จากธุรกิจส่วนตัว การมีแหล่งรายได้ที่มั่นคงจะช่วยให้คุณสามารถวางแผนการใช้จ่ายและการลงทุนได้ดีขึ้น

การใช้จ่าย

การใช้จ่ายเป็นส่วนที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน แต่การใช้จ่ายอย่างมีสติและการวางแผนการเงินอย่างรอบคอบจะช่วยให้คุณไม่ตกเป็นทาสของหนี้สิน การจัดทำงบประมาณและการติดตามรายจ่ายจะช่วยให้คุณควบคุมการใช้จ่ายได้ดีขึ้น

การลงทุน

การลงทุนเป็นวิธีที่ดีในการเพิ่มมูลค่าของเงินที่คุณหารายได้มา ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในหุ้น, อสังหาริมทรัพย์, หรือกองทุนรวม การลงทุนอย่างมีสติและการศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดจะช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสในการได้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว

ทุกคนคงรู้และเข้าใจสมการข้างล่างนี้ดีอยู่แล้ว หลักการนั้นแสนง่ายเพียงแค่ “หาเงินให้ได้มากกว่าที่ใช้ไป” เพียงเท่านี้เราก็จะไม่อดตายแล้ว

เงินเหลือเก็บ = รายได้ - ค่าใช้จ่าย

แต่ถ้าหลักการมันง่ายขนาดนี้ ทำไมยังมีคนที่ลำบากและอดอยากกันเยอะแยะเลยละ คำตอบของคำถามข้อนี้ค่อนข้างซับซ้อนและกว้างมาก แต่ผมขอสรุปสั้นๆ ดังนี้

ประการที่หนึ่ง คือ การขาดความรู้ ความสามารถ และความพยายาม

การที่เรามีความรู้ ความสามารถ มันจะช่วยให้เราสามารถสร้างคุณค่าให้กับผู้อื่นและได้รับผลตอบแทนกลับมาเป็นรูปแบบของเงินได้ เช่น การไปทำงานประจำ การขายของออนไลน์ เป็นต้น หากเรามีความรู้ความสามารถมากเราก็ย่อมมีโอกาสได้ผลตอบแทนมากกว่าคนอื่น แต่แน่นอนผมคิดว่าเราต้องเปิดใจยอมรับก่อนว่าว่าคนเราเกิดมามีต้นทุนทางเงินไม่เท่ากัน บางคนเกิดมาเพรียบพร้อมพ่อแม่มีเงินมากองให้ มีโอกาสทางการเรียนการศึกษาครบถ้วน บางคนเกิดมาในครอบครัวที่มีหนี้สินและขาดโอกาสทางการศึกษา ทำให้โอกาสในการหารายได้น้อยกว่าคนอื่น ความพยายามจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเพิ่มโอกาสการสร้างรายได้ให้คุณ ผมเชื่อว่าหากคุณมีความรู้ ความสามารถ และความพยายาม คุณจะสามารถสร้างรายได้ให้ตัวเองได้อย่างแน่นอน

ประการที่สอง คือ การขาดวินัยในการใช้จ่าย

ไม่ว่าเราจะมีรายได้เท่าไหร่ แต่หากเราใช้เงินมากกว่าที่เราหาได้เราก็จะไม่มีวันที่จะมีเงินพอใช้ กับดักที่หลายๆคนติดอยู่คือเรื่องของการผ่อนจ่ายสินค้าต่างๆ การที่เราผ่อนจ่ายสินค้านั้น ทำให้มันยากที่เราจะมองเห็นค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคตได้ทั้งหมด และเมื่อไหร่ที่เราเริ่มผ่อนไม่ไหวและต้องจ่ายดอกเบี้ยเราจะเริ่มประสบปัญหาว่าเงินได้ไม่มากพอกับค่าใช้จ่ายแล้วจะยิ่งสะสมไปเรื่อยๆ ผมพบว่าคนส่วนใหญ่จะสอนลูกหลานตั้งใจเรียนจะได้มีงานทำและไม่อดตาย แต่สิ่งที่เรามองข้ามไปคือเราไม่ได้สอนลูกหลานให้รู้จักใช้เงิน หลายๆครั้งเมื่อเด็กโตขึ้นจะมีสามารถหาเงินได้ แต่ก็ยังใช้เงินเกินตัวอยู่ดี สาเหตุเป็นเพราะการใช้เงินนั้นเป็นนิสัยที่ต้องบ่มเพาะตั้งแต่เด็ก การสอนให้รู้จักใช้จ่ายเงินแต่เด็กจึงมีความสำคัญมาก

ประการที่สาม คือ พึ่งพารายได้จากทางเดียว

คนส่วนใหญ่มักจะมีรายได้หลักมาจากการทำงานประจำอย่างเดียวซึ่งในสถานการณ์ปกติก็จะไม่มีปัญหาอะไร แต่เราจะต้องไม่ลืมว่าการทำงานที่อาศัยกำลังสมองและกำลังกายของเรานั้นมีขีดจำกัดอยู่ เมื่ออายุเรามากขึ้นมาถึงจุดหนึ่งเราก็จะไม่สามารถทำงานได้อย่างเดิม หรือหากเราเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บก็ไม่สามารถที่จะทำงานและได้รายได้ดังเดิม ดังนั้นการพึ่งพารายได้เพียงทางเดียวจึงถือเป็นความเสี่ยงอย่างนึง หากเรามีช่องทางและเวลาที่จะทำงานเสริมได้จึงเป็นความคิดที่ดีทีเดียว แต่หากเราไม่มีเวลาหรือไม่สามารถทำได้ยังมีอีกอย่างนึงที่เราควรต้องทำ นั่นก็คือการลงทุน การลงทุนนั่นมีให้เลือกหลายทาง แต่สำหรับผู้เริ่มต้นผมแนะนำให้ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงน้อยและผลตอบแทนชนะเงินเฟ้อ

ประการที่สี่ คือ เงินเฟ้อ

เงินเฟ้อคือการที่เงินของเราในวันนี้มีค่าน้อยลงในอนาคต ยกตัวอย่างให้ชัดเจนเราอาจจะเคยได้ยินคุณพ่อหรือคุณปู่ของเราเล่าว่าสมัยก่อนกินก๋วยเตี๋ยวชามละสองบาทเท่านั้น แต่มายุคนี้เงิน 2 บาทซื้ออะไรแทบไม่ได้เลย ดังนั้นหากคุณพ่อหรือคุณปู่ของเราเก็บเงิน 2 บาทฝังดินเก็บไว้ในตอนเด็ก ผ่านมาถึงปัจจุบันมันแทบจะไม่เหลือค่าอะไรเลย

ในทางตรงกันข้ามหากนำเงินไปฝากธนาคารหรือลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนกลับมาเงิน 2 บาทในวันนั้นอาจจะรักษาคุณค่าของมันไว้ได้ เช่นอาจจะมีปริมาณมากพอที่จะซื้อก๋วยเตี๋ยวได้และอาจจะยังเหลือเงินเก็บอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่นหากได้ผลตอบแทน 8% ต่อปี เก็บไว้เป็นเวลา 60 ปีจะมีค่าปัจจุบันคือ 202.5 บาท

จะเห็นได้ว่าการลงทุนมีบทบาทสำคัญในการสร้างความมั่งคั่งให้เราเป็นอย่างมาก

ประการที่ห้า คือ ค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดฝัน

ชีวิตเรานั้นมีความแน่นอนเกิดขึ้นตลอดเวลา เช่น เราอาจจะได้รับอุบัติเหตุทำให้ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลจำนวนมาก หรือบริษัทที่เราทำงานด้วยเกิดต้องเลิกกิจการกระทันหัน เป็นต้น เหตุการณ์ไม่คาดฝันเหล่านี้จะทำให้แผนทางการเงินเราผิดพลาดได้ และหากรุนแรงมากเราอาจจะจำเป็นต้องกู้เงินมาใช้จ่ายทำให้เกิดหนี้สินแล้วทำให้เราเข้าสู่วังวนของการเป็นหนี้ในที่สุด วิธีป้องกันที่เราทำได้คือ การเก็บเงินสำรองไว้สำหรับกรณีฉุกเฉิน รวมไปถึงการซื้อประกันสุขภาพเพื่อป้องกันความเสี่ยง

ดังนั้นเราสามารถที่จะเขียนสมการใหม่ได้ดังนี้

เงินเหลือเก็บ = รายได้ - ค่าใช้จ่าย + ผลตอบแทนจากเงินลงทุน
โดยที่
ผลตอบแทนจากเงินลงทุน = (เงินเหลือเก็บ - เงินสำรอง) x (อัตราผลตอบแทนจากเงินลงทุน - อัตราเงินเฟ้อ)

จากสมการข้างต้นเราจะพบว่า เราควรจะต้อง

  • เพิ่มรายได้
  • ลดค่าใช้จ่าย
  • เพิ่มอัตราผลตอบแทนการลงทุน
  • เงินสำรองจะปรับเปลี่ยนไปตามค่าใช้จ่ายรายเดือนของเราโดยทั่วไปเราควรจะสำรองเงินไว้เป็นค่าใช้จ่ายรายเดือนจำนวน 6 เดือน
  • อัตราเงินเฟ้อเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้

จะเห็นได้ว่าการเงินส่วนบุคคลไม่ใช่เรื่องที่ซับซ้อนอย่างที่หลายคนคิด ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง, การวางแผนที่ดี และวินัยในการใช้จ่ายเงิน คุณก็จะสามารถจัดการเงินของคุณได้อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างอนาคตทางการเงินที่มั่นคง หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับคุณในการเริ่มต้นหรือปรับปรุงการเงินส่วนบุคคลของคุณ

Leave a Comment